หน้าหลัก

ยินดีต้อนรับ

จากผลกระทบของการสร้างเขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ทำให้ชาวบ้านนาเชือก กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจนต้องอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปเป็นแรงงานในจังหวัดต่างๆ รวมถึงต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง

https://3d84d20f480b0883f5b8218c10bcaaa4.safeframe.googlesyndication.com/safeframe/1-0-40/html/container.html
หลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ในปี พ.ศ.2540 ชาวบ้านนาเชือก อ.พังโคน จ.สกลนคร จึงต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดและประกอบอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากภาคการเกษตรนั้นได้ผลผลิตต่ำ

เป็นธรรมดาเมื่อชาวบ้านหมดหนทางในการทำมาหากิน รายได้ขาดมือ ก็ต้องหันหน้าเข้าหา “วัด” ซึ่งวัดในชุมชนนี้ถือว่าแตกต่างจากวัดทั่วไปเพราะมีพระสงฆ์อย่าง พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ แห่งวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม อ.พังโคน จ.สกลนคร ที่เป็นทั้งนักคิดและนักพัฒนา เน้นให้ชาวบ้านพึ่งตนเองเป็นสำคัญ

สำหรับชาวบ้านนาเชือกเดิมส่วนใหญ่ยึดอาชีพรับจ้างทอผ้าส่งตามโรงงาน อย่างผ้าขาวม้า ซึ่งรายได้ไม่ค่อยสมดุลกับรายจ่ายนัก จึงคิดหาอาชีพเสริมโดยมองไปที่งานหัตถกรรม เนื่องจากมีผู้หญิงในหมู่บ้านจำนวนมากที่อาจหาเวลาว่างจากการเลี้ยงลูกมาทำงานเสริมได้

ด้วยเหตุนี้ นางสายสุนีย์ ไชยหงสา และชาวบ้าน จึงเดินทางไปกราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ฉัฐกรณ์ฯ ท่านได้แนะนำให้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ จึงได้มีการตั้งกลุ่ม “ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก”ขึ้น โดยมีพระอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ขณะที่ชาวบ้านจะคอยแจ้งความคืบหน้าโดยตลอด

ช่วงแรกชาวบ้านที่นี่ได้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ทำให้พระอาจารย์ติงไปว่า “การนำเปลือกไม้มาย้อมผ้าต้นไม้ไม่ตายหรือ?”

ชาวบ้านตอบว่า “ไม่น่าตายนะ”

พระอาจารย์เมื่อได้ยินดังนั้นจึงตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า “ถ้ามีใครมาลอกผิวหนังของโยม โยมจะตายไหม”

ประโยคนั้นทำให้ชาวบ้านคิดได้ และเริ่มมองหาวัตถุดิบอื่นมาย้อมผ้าแทนซึ่งมีความแตกต่างและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้เปลือกไม้ก็ต้องทำลายต้นไม้

นั่นจึงกลายมาเป็นการทำผ้าย้อมขี้ควายหรือมูลควายในเวลาต่อมา โดยหลังจากนั้นกลุ่มผู้นำบ้านนาเชือกจึงได้เข้ามาพบคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้เห็นบรรจุภัณฑ์ไม้ไผ่ของ ดร.เดือนรุ่ง สุวรรณโสภา จึงขอให้ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องของการสร้างอาชีพ โดยเริ่มต้นจากเทคนิคการย้อมสีฝ้ายให้สม่ำเสมอ จากปราชญ์ชาวบ้านที่มาให้คำแนะนำ อบรมให้กลุ่มผ้าย้อมสีธรรมชาติ แล้วพัฒนาเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ และหมู่บ้านราชมงคล นำไปสู่ 1 ใน 11 หมู่บ้านท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยธรรมชาติ ที่งดงาม และมีวัฒนธรรมชุมชนที่มีความเอื้ออารีต่อกัน